นโยบายการบริหารงานของผู้อำนวยการโรงเรียน

นโยบายการบริหารงานของ ผู้อำนวยการ

นายราเมศน์  โสมแสน ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง  ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

         การบริหารงานจะเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้  และให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ใช้หลัก “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน ร่วมมือกันสร้างสรรค์โรงเรียน และชุมชน ให้เจริญก้าวหน้า และเข็มแข็ง

หลักการบริหารจัดการสถานศึกษา

ดำเนินการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (GG Framework) ทั้ง 4 หลักการสำคัญ และ10 หลักการย่อย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งประกอบด้วย

      1. การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ประกอบด้วย

              1.1 ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เกิดผลิตภาพที่คุ้มค่าต่อการลงทุนและบังเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ต้องมีการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนยกเลิกภารกิจที่ล้าสมัยและไม่มีความจำเป็น

               1.2 ประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องมีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ มีการวางเป้าหมายการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและอยู่ในระดับที่ตอบสนองต่อความคาด หวังของประชาชน สร้างกระบวนการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและ มีมาตรฐาน มีการจัดการความเสี่ยงและมุ่งเน้นผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศ รวมถึงมีการติดตามประเมินผลและพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

               1.3 การตอบสนอง (Responsiveness) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ รวมถึงตอบสนองตามความคาดหวัง/ความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความหลากหลายและมีความแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม

       2.ค่านิยมประชาธิปไตย (Democratic Value) ประกอบด้วย

              2.1 ภาระรับผิดชอบ/สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องสามารถตอบคำถามและชี้แจงได้เมื่อมีข้อสงสัย รวมทั้งต้องมีการจัดวางระบบการรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและการให้คุณให้โทษ ตลอดจนมีการจัดเตรียมระบบการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาและผลกระทบใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

               2.2 เปิดเผย/โปร่งใส (Transparency) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมา รวมทั้งต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเชื่อถือได้ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนวางระบบให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเป็นไปโดยง่าย

               2.3 หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องใช้อำนาจของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่าง ๆ

               2.4 ความเสมอภาค (Equity) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกด้านชายหญิง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม และอื่น ๆ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงโอกาสความเท่าเทียมกันของการเข้าถึงบริการสาธารณะของกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้วย

      3.ประชารัฐ (Participatory State) ประกอบด้วย

               3.1 การมีส่วนร่วม/การพยายามแสวงหาฉันทามติ (Participation/Consensus Oriented) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมแสดงทัศนะ ร่วมเสนอปัญหา/ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องร่วมคิดแก้ไขปัญหา ร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินงานและร่วมตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ต้องมีความพยายามในการแสวงหาฉันทามติหรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องไม่มีข้อคัดค้านที่หาข้อยุติไม่ได้ในประเด็นที่สำคัญ

               3.2 การกระจายอำนาจ (Decentralization) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการควรมีการมอบอำนาจและกระจายความรับผิดชอบในการตัดสินใจและการดำเนินการให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

       4.ความรับผิดชอบทางการบริหาร (Administrative Responsibility) ประกอบด้วย

               คุณธรรม/จริยธรรม (Morality/Ethics) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีศีลธรรม คุณธรรม และตรงตามความคาดหวังของสังคม

นโยบายและแนวทางการพัฒนา  มีดังนี้

          ๑. สร้างความสมัครสมานสามัคคี และความเป็นน้ำหนึ่งใจด้วยกัน (โดยเน้นหลักธรรม   พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และการให้อภัย ตลอดจนมองโลกในแง่ดีมีพลังเชิงบวก)

          ๒. สร้างจิตสำนึกของคนดี มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  (มีหัวใจบริการ)

          ๓. พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม จรรยามารยาท และระเบียบวินัยแก่ผู้เรียนและตนเอง เพราะเชื่อว่าผู้ที่มีระเบียบวินัยจะง่ายต่อการเรียนรู้และพัฒนาได้ (ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน)

          ๔. พัฒนาให้ผู้เรียนสามารถอ่านออก เขียนได้ อ่านคล่อง เขียนคล่อง และส่งเสริมให้มีนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ตลอดจนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง และมีความฉลาดในการเลือกสื่อที่เป็นประโยชน์แก่ตน 

           ๕. พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและผู้เรียน ให้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล สามารถเป็นผู้นำ  การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้โรงเรียนมีคุณภาพ มาตรฐานที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

          ๖. ส่งเสริมทักษะทางวิชาการแก่นักเรียน โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตน และค้นพบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง ส่งเสริม สนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ ทั้งระดับโรงเรียน ตำบล อำเภอ เขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด และระดับที่สูงขึ้น จัดกิจกรรม ทางวิชาการภายในโรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้ฝึกฝนตนเองให้เข็มแข็งก่อนลงสู่สนามแข่งขันภายนอก

          ๗. พัฒนาห้องสมุดพร้อมระบบการบริหารจัดการ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ จัดให้มีการอำนวยความสะดวกและให้บริการด้วยหัวใจ

          ๘.  พัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพและใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ แสวงหาความรู้ ให้เท่าทันเทคโนโลยี ทันยุคสมัย ทันเหตุการณ์ 

          ๙. สร้างโอกาสให้ผู้เรียน ได้มีเวทีในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาศักยภาพของตนในด้านที่ถนัดและสนใจ ตลอดจนด้านที่ควรส่งเสริม สนับสนุนให้มีในตัวผู้เรียนทุกคน เช่น การแสดงต่าง ๆ การให้บริการแก่ผู้มีติดต่อ การเสียสละ การกล้าแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ การประหยัดอดออม การพูดหน้าเสาธง การพูดประชาสัมพันธ์เสียงตามสายทั้งในโรงเรียนและชุมชน เป็นต้น

          ๑๐. การให้บริการทางการศึกษาและอื่น ๆ แก่ผู้เรียนและชุมชน ด้วยใจบริการ เช่น การให้บริการใช้อาคารสถานที่ การให้บริการยืมวัสดุอุปกรณ์ การให้บริการแหล่งเรียนรู้ห้องสมุด  คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

        ๑๑. ส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยแก่ผู้เรียน ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  และเป็นผู้ที่สามารถครองตนและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข

       ๑๒. ปรับปรุงภูมิทัศน์ และสร้างสิ่งแวดล้อมภายใน ให้ร่มรื่น สะอาด สวยงาม น่าดู น่าอยู่  น่าเรียน 

       ๑๓. พัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา  ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  

การปฏิบัติหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษา

        การปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบของความเป็นครูมืออาชีพ  โดยยึดแนวปฏิบัติ คือ

  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ อดทน อดกลั้น
  2. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสัตย์สุจริต
  3. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจบริการ ประสานประโยชน์
  4. เป็นแบบอย่างที่ดี มีเหตุผล

           ทั้งนี้ ให้ทุกคน ทุกกลุ่มงาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างกัลยาณมิตร ให้ความรัก ความเมตตา ดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะหลักหัวใจบริการ คือ มาตรฐานการทำงานของเรา พร้อมทั้งปฏิบัติต่อผู้รับบริการอย่างเสมอภาคและเที่ยงธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนให้ระลึกอยู่เสมอว่า “เราจะร่วมกันสร้างสรรค์โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง”

          นอกจากนี้ ขอให้แต่ละฝ่าย แต่ละคน ออกแบบ ปรับปรุงและพัฒนา การทำงานภายใน  กลุ่มงานของตนให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงานไว้เป็นแนวทางในการปรับใช้ให้เหมาะสมต่อไป

จุดเน้นการบริหาร

          แนวนโยบายที่แต่ละงาน ฝ่าย และบุคลากรทุกคนจะต้องปฏิบัติร่วมกัน เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียน “ประพฤติดี มีความรู้ และอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข”  ดังนี้

  • ดูแล ห่วงใย  ใส่ใจ  ด้วยรัก  (ตามแนวทางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน)
  • ปลอด ๐  ร  มส  และนักเรียนจบการศึกษาร้อยละ ๑๐๐
  • สะอาด ปลอดภัย  ใส่ใจบริการ
  • ชัดเจน โปร่งใส  ตรวจสอบได้

http://www.medytox.com/-/demo-slot/